header



คำถามนึงที่พิมมักจะได้รับบ่อยมาก คือ  เชื่อมกล้วยแดง (หมายถึงกล้วยน้ำว้า) ยังไงให้อร่อย หรือพิมมีเทคนิควิธีเชื่อมกล้วยแดงแบบง่าย  ๆ ไม่ต้องคอยดูคอยคนตลอดบ้างไหมคะ 

วันนี้สบโอกาสอันดี ^_^  พิมก็เลยเอาวิธีทำพร้อมกับเทคนิคง่าย ๆ ในการเชื่อมกล้วยแดงมาฝาก   ซึ่งสูตรและวิธีทำแบบพิมเนี่ย รับรองว่ากล้วยออกมาอร่อย หนึบ ไม่แข็ง แล้วก็ไม่ต้องคอยเดินมาคน หรือกังวลว่าถ้าไม่คนแล้วมันจะไหม้ไหม ? ด้วยอ่ะค่ะ 

ไปดูเคล็ดลับและวิธีทำตามสไตล์ครัวบ้านพิมกันเลยดีกว่าค่า ^_^ 

syrup cultivated banana 21

syrup cultivated banana 20

:: ส่วนผสมและเครื่องปรุง ::

- กล้วยน้ำว้าเปลือกสีเหลืองอมเขียวเล็กน้อย 1 หวี  ขนาดประมาณในภาพด้านล่าง
- น้ำตาลมะพร้าว  250 กรัม
- น้ำตาลทรายไม่ขัดสี  230 กรัม
- น้ำเปล่า 4 + 1/2 ถ้วย
- น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ 
- ใบเตย 3 ใบ ล้างสะอาด มัดรวมกัน

- น้ำปูนใส สำหรับแช่กล้วย 1.5 ลิตร

- หัวกะทิ 350 มิลลิลิตร
- แป้งอเนกประสงค์ 1 ช้อนโต๊ะ 
- เกลือสมุทรป่น 1 ช้อนชา 

syrup cultivated banana 01

:: วิธีทำ ::

เริ่มแรกเรามาดูที่กล้วยกันก่อนนะคะ สำหรับใครที่ชอบกล้วยแดง (พิมขอเรียกกล้วยน้ำว้าเชื่อม ว่ากล้วยแดงเน๊าะ มันง่ายดี)  แบบหนึบหนับ แข็งหน่อย ๆ พิมแนะนำให้ใช้กล้วยน้ำว้าแบบห่ามที่มีเปลือกสีเขียวกว่าในภาพด้านล่างค่ะ   แต่ถ้าใครชอบกล้วยแดงแบบนุ่มหนึบ ไม่แข็ง กินง่าย ไม่ลำบากฟันแล้วล่ะก็ พิมแนะนำให้ใช้เป็นกล้วยที่มีเปลือกสีเหลืองอมเขียวนิดๆ  นะคะ  

syrup cultivated banana 03

 เมื่อได้กล้วยมาแล้ว ก็ให้เราปอกเปลือกกล้วย หั่นไว้เป็นชิ้นพอคำค่ะ  ถ้ากล้วยลูกใหญ่หน่อย ก็หั่นเป็น 3 ส่วน ถ้ากล้วยลูกกลางๆ  ก็หั่นเป็น 2 ส่วน   หรือใครจะสะดวกหั่นแบบอื่น ก็ตามชอบเลยนะคะ 

syrup cultivated banana 04

จากนั้นก็เอากล้วยไปแช่ไว้ในน้ำปูนใส ประมาณ 1 ชั่วโมงค่ะ 

*** ดูรายละเอียดเกี่ยวกับน้ำปูนใส ตอนท้ายของเมนูนี้  / ควรให้น้ำปูนมีปริมาณท่วมกล้วย ไม่งั้นกล้วยอาจจะดำเป็นหย่อม ๆ นะจ๊ะ 

syrup cultivated banana 05

 ระหว่างนั้นเราก็จะมาทำกะทิสำหรับราดหน้ากล้วยแดงกันค่ะ 

ก็ให้เราหยิบหม้อใบเล็ก ๆ มาใบนึง ใส่หัวกะทิ แป้งสาลี และเกลือลงไป คนด้วยตะกร้อมมือพอเข้ากัน    แล้วเอาไปตั้งบนเตาไฟโดยใช้ไฟกลางค่อนมาทางอ่อน (ถ้าทำปริมาณเยอะกว่านี้ หม้อใหญ่กว่านี้  ก็ใช้ไฟกลางได้เลย)  คนไปเรื่อย ๆ จนแป้งสุกกะทิข้น  ก็ปิดไฟเตาได้เลย แล้วพักเอาไว้ก่อนนะคะ 

syrup cultivated banana 06

syrup cultivated banana 07

หันมาดูที่กล้วยกันต่อค่ะ  พอเราแช่กล้วยไว้ในน้ำปูนใสครบ 1 ชั่วโมงแล้ว  ก็เทกล้วยใส่กระชอน  แล้วล้างกล้วยด้วยน้ำสะอาด 2-3 รอบเพื่อให้หมดกลิ่นปูนะคะ 

จากนั้นก็หยิบหม้อหุงข้าวมา  แล้วใส่น้ำตาลมะพร้าว  น้ำตาลทราย น้ำเปล่า (ใส่ไปแค่ 3 ถ้วย ส่วนอีก 1 + 1/2 ถ้วย เก็บไว้ก่อน) และใบเตยลงไป   คนพอเข้ากันค่ะ    

*** ถ้าไม่มีน้ำตาลมะพร้าว จะใช้น้ำตาลโตนด หรือน้ำตาลปี๊บทั่วไปก็ได้นะคะ 

*** การใช้หม้อหุงข้าวมาเชื่อมกล้วยน้ำว้า นอกจากจะทำให้ไม่ต้องมาคอยคน คอยดูกล้วย ดูไฟตลอดเวลาแล้ว  ก็ยังทำให้เราเอาเวลาระหว่างเชื่อมกล้วยไปทำอย่างอื่นได้อีกค่ะ

syrup cultivated banana 08

ปิดฝา  เสียบปลั๊กหม้อหุงข้าว  แล้วกดปุ่ม Cook  ให้หม้อทำงานไปนะคะ 

syrup cultivated banana 09

 ผ่านไปประมาณ 12-13 นาที  น้ำเชื่อมในหม้อหุงข้าวจะเดือด ก็ให้เราใส่กล้วยน้ำว้าลงไปค่ะ 

syrup cultivated banana 11

จากนั้นปิดฝาอีกรอบ ผ่านไปราว ๆ  5 นาที  น้ำเชื่อมจะเดือดอีกครั้ง ก็ให้เราเปิดฝาหม้อทิ้งไว้เลยนะคะ  แล้วก็ปล่อยให้หม้อทำงานไปค่ะ 

syrup cultivated banana 14

syrup cultivated banana 16

 พอผ่านไปประมาณ 1 ชม.  กล้วยจะเริ่มเป็นสีแดงน้อย ๆ ก็ให้เติมน้ำเปล่าที่เหลืออีก 1 + 1/2 ถ้วย  ตามด้วยน้ำมะนาว  เพื่อไม่ให้น้ำเชื่อมจับตัวกันเป็นเกล็ดน้ำตาลนะคะ  

syrup cultivated banana 15

 แล้วก็ปล่อยให้หม้อหุงข้าวทำงานต่อไป จนกว่าจะได้กล้วยเชื่อมเป็นสีแดงตามที่เราต้องการนะคะ  เบ็ดเสร็จก็จะใช้เวลาราว ๆ  1.40 - 1.50  ชั่วโมงค่ะ 

syrup cultivated banana 17

แล้วเราก็จะได้กล้วยน้ำว้าเชื่อม หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่ากล้วยแดง ออกมาหน้าตาอย่างในภาพด้านล่างนี้นะคะ  ^_^ 

syrup cultivated banana 18

00

ทีนี้เวลาจะทาน ก็ตักกล้วยแดงใส่ถ้วย ตามด้วยกะทิข้น ๆ มากน้อยตามชอบค่ะ  หรือถ้าใครไม่ชอบกะทิ ไม่ต้องใส่กะทิก็ได้นะคะ  แล้วเราก็จะได้กล้วยน้ำว้าเชื่อม ออกมาหน้าตาน่าทานอย่างนี้เลยค่ะ 

syrup cultivated banana 20

จริงๆ  แล้วกล้วยน้ำว้าเชื่อมเนี่ยเป็นขนมที่ทำได้ไม่ยากเลยนะคะ  แต่หลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกว่ามันใช้เวลานาน แถมยังมีความยุ่งยากในการทำ หรือไม่ก็ทำออกมาแล้วไม่ถูกใจ กล้วยแข็งไป กินแล้วลำบากฟัน ก็เลยไม่ค่อยอยากทำกัน  ... วันนี้ได้เทคนิคและวิธีทำแบบง่าย ๆ จากพิมไปแล้ว  ลองไปทำกันดูนะคะ  รับรองจะติดใจค่า 

syrup cultivated banana 21

syrup cultivated banana 22

:: เพิ่มเติม "วิธีทำน้ำปูนใส" ::

น้ำปูนใส ได้จากการเอาน้ำเปล่า/น้ำสะอาด ไปคนผสมกับ ปูนแดง หรือปูนขาว ในอัตราส่วนประมาณปูน 1 ส่วน น้ำ 20 ส่วน แล้วตั้งทิ้งไว้อย่างน้อย  1-2 คืนจนปูนตกตะกอน  (ถ้าให้ดี มีกลิ่นปูนเหลือน้อย ควรตั้งทิ้งไว้สัก 1 สัปดาห์)   แล้วน้ำใส ๆ ที่อยู่ด้านบนก็จะเรียกว่าน้ำปูนใสอ่ะค่ะ  ซึ่งเมื่อเรานำผัก ผลไม้ไปแช่ในน้ำปูนใสเนี่ย จะทำให้ผักและผลไม้มีเนื้อสัมผัสที่แข็งขึ้น ป้องกันการเปื่อยยุ่ยนะคะ หรือถ้าเอาไปเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร เช่น ผสมในแป้งชุบทอด ก็จะทำให้แป้งนั้นกรอบแข็งขึ้นด้วยอ่ะค่ะ

นอกจากช่วยเรื่องความกรอบความแข็งแล้ว น้ำปูนใสยังช่วยล้างยาฆ่าแมลง ล้างโลหะหนักที่ตกค้าง และช่วยต้านการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้ป้องการอาหารบูดเน่าได้ประมาณนึงด้วยนะคะ

ในภาพด้านล่าง คือ น้ำปูนในที่พิมทำเอาไว้ประมาณ 1 เดือนแล้วค่ะ สังเกตุว่าน้ำด้านบนจะใสมากจนแทบเหมือนน้ำเปล่าเลยนะคะ  เวลาจะใช้ เราก็รินเอาเฉพาะน้ำใส ๆ ด้านบนมาใช้   ส่วนปูนที่เหลืออยู่ตรงก้นขวดเป็นสีแดง ๆ หลังกากรินน้ำออกไปแล้ว ก็เติมปูนเพิ่มไปสัก 1 ช้อนโต๊ะ แล้วก็เติมน้ำสะอาดลงไปให้เต็มขวด เก็บไว้ใช้เป็นน้ำปูนใสในครั้งต่อไปได้ค่ะ 

syrup cultivated banana 02

:: เพิ่มเติม ::

หม้อหุงข้าวที่พิมใช้ ยี่ห้อ Summer รุ่น Magic Diamond นะคะ  มีทั้งแบบ 1 ลิตร กับ 1.8 ลิตร   ดูรีวิว >> ที่นี่ <<  และซื้อได้ >> ที่นี่ <<  นะคะ  

ข้อดีของหม้อหุงข้าวรุ่นนี้นอกจากจะเป็นไปตามในรีวิวที่พิมเขียนเอาไว้แล้ว ก็คือ  ถ้าหุงข้าวปกติ ปุ่ม Cook  ก็จะเด้งกลับอัตโนมัติเมื่อข้าวสุกค่ะ  แต่ว่าถ้าเราทำอาหารประเภทอื่น เช่น  ต้มยำไก่ ทำซุป สตู พาสต้า หรืออย่างที่พิมทำกล้วยเชื่อมในวันนี้  ปุ่ม Cook  จะไม่เด้งกลับ จนกว่าเราจะกดที่ปุ่มอีกครั้งนะคะ เพราะงั้นเชื่อมกล้วยไปได้ยาว ๆ ไม่ต้องมาคอยกังวลเลยค่ะ 

https://www.pim.in.th/images/products/summer-magic-diamond/summer-rice-cooker-02.jpg

 



ครัวบ้านพิม on Facebook

สมาชิก