เช้าวันที่ 2 ของทริปตราด พิมนี่ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ตั้งแต่ตี 5 เลยค่า เพราะกะว่าจะไปเดินตลาดเช้าแบบชิว ๆ สัก 2-3 ชั่วโมง แต่ที่ไหนได้ พอลืมตาตื่นปุ๊บ เปิดม่านหน้าต่างออกไปดูปั๊บบบ อ่าาา. ฝนตกล่ะค่า แถมตกหนักซะด้วย จะทำไงดีล่ะทีนี้ T___T
วันว่างแบบนี้ไปทำอะไรดีที่ ... ตราด ep.1 >> อ่านได้ที่นี่เลยค่า <<
แต่แล้วเหมือนฟ้าฝนจะเห็นใจพิม หลังจากพิมนอนกลิ้งอยู่บนเตียงจนถึงสักประมาณ 7 โมง แม้ฟ้าจะไม่ค่อยใส แต่ฝนก็เริ่มหยุดตกล่ะค่ะ เพราะงั้นได้เวลาเตรียมตัวออกไปลุยตลาดเช้าหาขนมอร่อยๆ กินล่ะค่า ^_^
ตลาดเช้าใน อ. เมืองตราด อยู่ห่างจากที่พักของพิมไปประมาณ 300 เมตรนะคะ หรือเรียกว่าถ้าเดินเนี่ย ก็สบาย ๆ ใช้เวลาราว ๆ 5 นาทีก็ถึงตัวตลาดแล้วอ่ะค่ะ
ตลาดนี้เนี่ย หลัก ๆ เค้าจะขายพวกของทะเลสด ๆ อย่าง กุ้ง หอย ปู ปลานะคะ โดยเฉพาะปลาเนี่ยมีเยอะมาก ทั้งไซส์ปกติทั่วไปและไซส์แบบใหญ่โตมโหฬาร ที่สำคัญคือความสดค่ะ ปลาที่ขายกันในตลาดนี้ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์สดแบบยังปิ๊ง ๆ อยู่เลยนะคะ ส่วนราคาปลาโดยทั่วไปถ้าเทียบกับตลาดแถวบ้านพิม (ตลาดบางกะปิ) ที่นี่ก็จะถูกกว่าประมาณโลละ 20-40 บาท แต่ความสดนี่อย่าเอามาเทียบกันเลยค่ะ T___T
ส่วนกุ้งหมึก แม้จะไม่มากเท่ากับปลา แต่ที่นี่ก็มีขายนะคะ แถมยังสดมาก เนื้อหมึกเนื้อกุ้งยังมีความใสวาว หัวกุ้งยังติดแน่นกับตัวกุ้ง เนื้อหมึกยังมีความเด้งยืดหยุ่นดึ๋งๆ ที่สำคัญราคาดีงาม ถูกกว่าแถวบ้านพิมกิโลละหลายสิบบาทเลยค่า
และนอกจากพวกของทะเลสดๆ แล้ว ใครที่ชอบอยากทำข้าวผัดปู เนื้อปูผัดพริกเหลือง หลนไข่ปู ไข่ปูผัดพริกขี้หนู กั้งทอดกระเทียม กั้งผิดพริกเกลือ แกงปลาขูด หรือเมนูอะไรที่ต้องใช้เนื้อปู ปลา กั้ง ที่นี่เค้าก็มีเนื้อปูแกะ เนื้อกั้งแกะ และเนื้อปลาขุดขายด้วยนะคะ ส่วนความสดนี่ไม่ต้องพูดถึง ถ้าพิมเอาลังโฟมมาและวันนี้เป็นวันเดินทางกลับ คงจะเหมามาเต็มลังโฟมแน่ ๆ เลยค่า ^_^
เดินเข้ามาในตลาดลึกอีกหน่อย พ้นจากโซนของทะเลแล้ว ก็จะเป็นโซนที่ขายพวกของกินพร้อมทานล่ะนะคะ ไม่ว่าจะเป็นทอดมันปลาอินทรี ห่อหมกปลาสาก ปลาทะเลเค็มทอดหลากหลายชนิด ข้าวราดแกง ปูนึ่งพร้อมน้ำจิ้มทะเลสุดแซ่บ และอื่น ๆ อีกมากมายหลายอย่าง รวมไปถึงหอยปากเป็ดเค็มหวาน และกุ้งหวานที่มีขายให้เห็นอยู่ทั่วไปด้วยอ่ะค่ะ
หอยปากเป็ดดองน้ำปลา ทีเด็ดอยู่ตรงหางนี่แหละค่า อร่อยกรึ๊บ ๆ มาก
และหลังจากเดินกันมาประมาณค่อนตลาด ^__^ พิมก็ถึงจุดหมายปลายทางที่หวังเอาไว้ตั้งแต่เมื่อคืนแล้วล่ะค่า นั่นก็คือแผงขายขนมพื้นเมืองของตราด ที่มีขนมชั้นสีแดงทำจากครั่ง มีขนมถ้วยฟูน้ำตาลอ้อย และข้าวต้มมัดญวณนะคะ ซึ่งขนมเหล่านี้เนี่ยแม้จะมีความอร่อยและมีเอกลัษณ์เฉพาะตัว แต่ปัจจุบันกลับหากินได้ยาก และก็เริ่มสูญหายไปบ้างแล้วค่ะ เพราะงั้นถ้าใครมาเมืองตราด อย่าลืมมาลองแวะซื้อไปชิมกันเพื่ออนุรักษ์ขนมเหล่านี้ให้คงอยู่กับเราไว้นาน ๆ จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเลยนะคะ ^_^
หลังจากเดินชมตลาด และช๊อปปิ้งของกินสำหรับมื้อเช้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลากลับที่พิมจะกลับเข้าที่พักเพื่อไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าและกินข้าวเช้าแล้วล่ะค่า (คาดว่าคุณสามีน่าจะตืนมารอแหละ ^^) แต่ก่อนกลับเข้าที่พัก พิมก็ขอแวะไปซื้อ #ขนมบันดุก ขนมพื้นเมืองอีกอย่างของจังหวัดตราดสักหน่อยนะคะ จริง ๆ ในตลาดที่พิมไปเดินมาเมื่อกี้ก็มีร้านขายขนมบันดุกอยู่หลายร้าน แต่น้องเจ้าถิ่นเค้าบอกกับพิมว่า ร้านที่ขายขนมบันดุกอร่อยที่สุดในตัวเมืองตราด เป็นร้านตึกแถวอยู่ข้าง ๆ โบราณสถานเรซิดังกัมปอร์ต ซึ่งห่างจากที่พักพิมชนิดเดินไปไม่ถึง 2 นาทีเลยอ่ะค่ะ ซึ่งถ้าใครจะตามรอยพิมไปชิมเจ้าขนมอันนี้ แนะนำว่าไปสักประมาณ 7-8.30 โมงนะคะ เพราะว่าถ้าหลังจากนั้น ขนมอาจจะหมดก็เป็นได้ค่า
พอกลับถึงที่พัก ตอนแรกพิมคิดไว้ว่าคุณสามีจะต้องเปิดประตูออกมารับชัวร์ค่า ^_^ ที่ไหนได้ สงสัยว่าอากาศจะเย็นสบายและที่นอนจะดีเกิน คุณสามีพิมเลยนอนยาวยังไม่ตื่นเลยค่ะ พิมก็เลยคิดว่าอ่ะ ไม่เป็นไร เพราะตอนอยู่กรุงเทพฯ คุณสามีทำงานหนักเหลือเกิน บางวันก็ได้นอนแค่ 3-4 ชั่วโมง เพราะงั้นแล้วมาเที่ยวอย่างนี้ ให้คุณสามีได้นอนยาว ๆ สบาย ๆ บ้างก็ดีนะคะ
เพราะงั้นระหว่างรอคุณสามีตื่น (ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกินอีกหนึ่งชั่วโมง) บวกกับความหิว พิมก็เลยจัดการไปขอยืมจานจากโฮเทลมา 2 ใบ เพื่อจะเอามาใส่ขนมและอาหารที่ซื้อจากตลาดมาชิมไปพลาง ๆ ก่อนอ่ะค่ะ (ย้ำว่าชิมนะ ^^)
อย่างแรกเลยคือ #ขนมบันดุก หรือที่บางคนเรียกว่า #ขนมบันดุ๊ก นะคะ ... ซึ่งเท่าที่พิมค้นข้อมูลและเดินดูของจริงในตลาด ขนมบันดุกจะมีอยู่ 2 แบบค่ะ คือ แบบดั้งเดิมตัวแป้งจะแป้งสีขาวมีรสจืด เวลาทานก็กินคู่กับถั่วลิสงป่นและน้ำตาลอ้อยเคี่ยวนะคะ ส่วนอีกแบบเป็นแบบที่พัฒนาขึ้นมาหน่อย จะมีการผสมน้ำใบเตยลงไปในตัวแป้งด้วย ทำให้แป้งมีสีเขียว มีความหอม แต่ยังคงรสจืดอยู่เหมือนเดิม เวลากินก็กินคู่กับถั่วป่น น้ำตาลอ้อยเคี่ยว และมีการราดหัวกะทิเพื่อเพิ่มความหวานมันให้กับขนมอีกด้วยอ่ะค่ะ .. แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ถ้าเจอเจ้าที่ทำดี ๆ ก็อร่อยทั้งสองแบบเลยค่า ^_^
จากขนมบันดุก เรามาต่อกันที่ขนมอีกอย่างนึงนั่นก็คือ ขนมชั้นสีแดงนะคะ ปกติขนมชั้นสีแดงทั่วไปเนี่ย เค้าก็จะใช้สีแดงที่เป็นสีผสมอาหารค่ะ แต่ขนมชั้นสีแดงพื้นเมืองของทางตราด จะมีความเป็นเอกลักษณ์สุด ๆ เพราะเค้าจะใช้ครั่งซึ่งให้สีแดงจากธรรมชาติแทนสีผสมอาหารนะคะ ถ้าถามพิมว่ารสชาติต่างกันไหม กลิ่นต่างกันไหม พิมก็ขอตอบว่าไม่ต่างกันเลยค่ะ แต่พอเราได้กินอะไรที่บอกว่า อุ๊ยย.....ย มาจากธรรมชาติแท้ ๆ มันก็รู้สึกดีกว่าเน๊าะคะ ^_^
นอกจากขนมบันดุก ขนมชั้นสีแดงแล้ว ที่เมืองตราดก็ยังมีขนมพื้นเมืองอีกอย่างนึงที่น่าสนใจมากก็คือ ข้าวต้มมัดไต้ หรือข้าวต้มมัดไส้หมู ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยเห็นมีใครทำขายแล้ว เพราะกระบวนการทำเนี่ยค่อนข้างยุ่งยากอ่ะค่ะ
วิธีการทำข้าวต้มมัดไส้หมูแบบคนเมืองตราดเท่าที่พิมเคยเห็นมา เค้าจะเอาข้าวเหนียว กับถั่วทองไปแช่น้ำเปล่าจนนิ่มนะคะ (ถั่วทอง คือ ถั่วเขียวเราะเปลือก ที่เอามาใช้ทำถั่วแปบ) ก็เอามาห่อด้วยใบกะพ้อ ใส่ไส้ตรงกลางด้วยหมูสับที่เคล้ารวมกับเกลือป่นพริกไทยให้มีรสเค็มนิด ๆ เผ็ดร้อนหน่อย ๆ ม้วนให้เป็นรูปทรงกระบอก หักใบกะพ้อส่วนที่ยาวเกินลงมา มัดด้วยตอกให้เรียบร้อย แล้วเอาไปต้มจนสุก ก็แกะออกมาทานได้เลยค่ะ ซึ่งข้าวต้มมัดแบบนี้เนี่ย สมัยก่อนจะนิยมทำกันเฉพาะในช่วงเทศกาล แต่ในสมัยนี้ยังพอมีทำออกมาขายกันบ้าง แต่ก็ยังน้อยอยู่ เพราะคนไม่ค่อยทานกัน ยังไงถ้าเพื่อน ๆ ผ่านไปที่ตราด อย่าลืมแวะชิมขนมนี้กันนะคะ ^^
สุดท้าย ... ท้ายสุดของการชิมรองท้องในมื้อเช้า ^_^ ก็คือห่อหมกปลาสากค่ะ
พูดถึงห่อหมกแล้ว ปกติแล้วพิมเป็นคนที่ไม่ค่อยซื้อห่อหมกทานนะคะ เพราะเท่าที่เคยกินมา (เอาเฉพาะที่พิมเคยกินนะ) ไม่เคยเจอเจ้าไหนอร่อยถึงเครื่องค่ะ -*- มีแต่รสอ่อนบ้าง เครื่องแกงน้อยไปบ้าง แต่ห่อหมกในภาพข้างล่างที่พิมซื้อมา แม้จะสีจืด แม้จะแค่ราคาห่อละ 15 บาท แต่รสชาติดีงามแบบคนพื้นบ้านทำเลยนะคะ ทั้งเผ็ดหอม เค็มกลมกล่อม ถึงเครื่องแกง ไม่มีความคาวของปลาเลยแม้แต่น้อย (แน่ล่ะ !! ปลาสดขนาดนี้เนี่ยนะ) กินกับข้าวก็อร่อย กินเฉย ๆ เป็นกับแกล้มรสชาติก็ไม่มากเกิน เรียกว่ากินหมด 2 ห่อแล้วอยากจะเดินกลับไปซื้อกินอีก 2 ห่อเลยอ่ะค่า
และหลังจากรองท้องไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาไปปลุกคุณสามีล่ะค่ะ เพราะคุณท่านนอนไม่ยอมตื่นสักกะที สงสัยฟินกับเตียงและอากาศเย็นเอามากๆ - -" ..... หลังจากอาบน้ำอาบท่า แต่งตัว และกินข้าวกันเรียบร้อยแล้ว พิมกับคุณสามีก็พากันขับรถไปกินข้าวคลุกพริกเกลือที่ร้านน้าสาว ซึ่งเป็นคนละร้านกับร้านป้าสาวเมื่อวานนี้นะคะ
ร้านน้าสาวเป็นร้านอาหารบ้าน ๆ ที่มีทั้งอาหารตามสั่งและก๋วยเตี๋ยวค่ะ มองเผิน ๆ เหมือนร้านจะไม่มีอะไร แต่ถ้าถามเจ้าถิ่นว่ามีร้านอาหารกลางวันอะไรที่ไม่ต้องเป็นร้านเริศหรูแนะนำบ้างไหม เจ้าถิ่นก็จะบอกว่าให้มาร้านนี้เลยค่า
อย่างแรกที่มาถึงแล้วต้องสั่ง ก็คือ ก๋วยเตี๋ยวทะเล นะคะ ... ก๋วยเตี๋ยวทะเลของที่นี่จะมีความเป็นก๋วยเตี๋ยวแบบบ้านๆ มาก คือ น้ำซุปจะใส หอม และมีหวานกลมกล่อมแบบที่ชิมแล้วรู้เลยว่าไม่ผ่านการปรุงแต่งเยอะค่ะ รสชาติก็จะไม่เข้มมาก ส่วนกุ้งหมึกก็จะสด ลวกมาแบบสุกกำลังดี เนื้อกุ้งจะหวานนุ่ม ส่วนหมึกก็จะเด้งดุ๊บ ๆ นะคะ แล้วก็ยังมีกุ้งชุบแป้งทอดโรยหน้ามาด้วย .. หากเพื่อนๆ คนไหนไปทานที่นี่ แล้วชอบเครื่องเยอะๆ แนะนำว่าให้สั่งแบบพิเศษสุดๆ (ไม่มีในเมนู) แต่ไม่ต้องเพิ่มเส้น หรือจะลดปริมาณเส้นลงหน่อยก็ได้นะคะ เพราะที่นี่ให้เส้นเยอะ ราคาประมาณชามละ 60-70 บาท (ชามธรรมดา 30-35) รับรองอร่อยฟินนนเลยค่า
แต่จริงๆ แล้วเมนูเด็ดของที่ร้านน้าสาว ที่ใคร ๆ ต่างพากันพูดถึง กลับไม่ใช่ก๋วยเตี๋ยว แต่เป็น #ข้าวคลุกพริกเกลือ นะคะ
ปกติเวลาพิมไปกินข้าวคลุกพริกเกลือตามร้านต่าง ๆ ก็จะเป็นการเอาเนื้อสัตว์ ของทะเลลวก มาวางบนข้าวสวย แล้วเสริฟคู่กับน้ำจิ้มพริกเกลือนะคะ แต่ว่าที่ร้านน้าสาวเนี่ย ข้าวคลุกพริกเกลือเค้าจะแตกต่างจากที่อื่น เพราะน้าสาวเค้าจะเอาข้าวลงไปคลุกกับพริกเกลือในกาละมังเลย แล้วค่อยตักใส่จาน วางเนื้อสัตว์โปะหน้าอีกที ก่อนจะเสริฟพร้อม ๆ กับ น้ำซุปร้อน ๆ อ่ะค่ะ และหากใครรู้สึกว่ารสชาติยังจัดจ้านไม่พอ (เพราะถ้าเอาน้ำพริกเกลือคลุกข้าว รสชาติความเข้มข้นมันจะลดลง) ก็สามารถขอน้ำพริกเกลือเพิ่มได้จ้า สนนราคาสั่งพิเศษสุดๆ แบบพิม ชนิดที่กินตอนเที่ยงอิ่มไปถึงตอนเย็น ก็จานละ 60 บาทเท่านั้นเองค่า
จากร้านน้าสาว .... พิมกับคุณสามีมีนัดกับพี่แจ๊ม หรือพี่วศินี ผู้ประสานงานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ #บ้านห้วยแร้ง ต่ออ่ะค่ะ
หลายคนอาจจะสงสัย บ้านห้วยแร้งคืออะไร แล้วพิมมาบ้านห้วยแร้งทำไม คือฟังชื่อแล้วเหมือนไม่น่าจะใช่สถานที่ท่องเที่ยว หรือ ไม่น่าจะมีของอร่อยอะไรอยู่ที่นี่เลยเน๊าะคะ ....... แต่เรื่องของเรื่องมันคืออย่างนี้ค่ะ ก่อนที่พิมจะมาตราด ตอนที่พิม search หาข้อมูลใน google ว่าที่ตราดเนี่ยเค้ามีอาหารพื้นบ้านอะไรที่น่าสนใจบ้าง ก็ไปพบว่านอกจากพวกอาหารทะลสดๆ แล้ว ที่ตราดเนี่ยก็ยังมี #ข้าวห่อกาบหมาก ซึ่งเป็นเมนูขึ้นชื่อของบ้านห้วยแร้งอยู่ด้วยอ่ะค่ะ พิมก็เลยโทรไปสอบถามข้อมูลตามเบอร์โทรที่หาได้จากในเนต คือเบอร์โทรพี่แจ๊มนะคะ
แล้วหลังจากที่ได้คุยกับพี่แจ๋มเป็นเวลาหลายชั่วโมง ^^" เลยได้รู้ว่านอกจากข้าวห่อกาบหมากแล้ว ที่บ้านห้วยแร้งก็ยังมีอาหารพื้นบ้านอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น แกงส้มใบสันดาน ขนมจาก ขนมจวยตาอุ้ย (จริงๆ ชื่อขนมไม่ใช่อันนี้ แต่พิมขอปรับเล็กน้อยเน๊าะ เพื่อไม่ให้ติดเรทเกินไป) อ่ะค่ะ แล้วนอกจากอาหารพื้นบ้านแล้ว ที่บ้านห้วยแร้งก็ยังมีกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้ทำอีกหลายอย่างเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นตกกุ้ง ตกปลา ล่องเรือ เล่นน้ำในคลอง ล่องแก่ง Fish Spa จับหอยคีบ และชมสวนผลไม้นะคะ เพราะงั้นวันที่ 2 ของทริปตราด พิมจึงตกลงปลงใจไปที่ห้วยแร้งนี่แหละค่ะ ^_^
พิมไปถึงบ้านห้วยแร้งเอาตอนประมาณบ่ายโมง เลทกว่าที่นัดพี่แจ๋มไว้ประมาณชั่วโมงนึง เพราะมัวแต่หาร้านซ่อมกระจก เนื่องจากกระจกหน้ารถโดนหินแตกระหว่างทางนะคะ - -" แต่พอไปถึงจุดที่นัดกันไว้ พี่แจ๊มก็บอกว่าไม่เป็นไร เพราะกิจกรรมที่พิมกับคุณสามีจะทำในวันนี้ เป็นแบบชิว ๆ ไม่มีอะไรยุ่งยาก เพราะงั้นแล้วเวลาที่เหลืออีกครึ่งวัน พอดีแบบสบาย ๆ เลยค่ะ ^_^
สำหรับกิจกรรมที่พิมจะทำในวันนี้เนี่ย พิมคุยกับพี่แจ๊มเอาไว้วันก่อนจะมาว่า พิมอยากจะลองทำขนมจากสูตรของทางบ้านห้วยแร้ง และอยากจะลองทำข้าวห่อกาบหมากนะคะ คือแบบว่าไม่ใช่มากินอย่างเดียว แต่อยากลองทำด้วย แล้วก็อยากชิมแกงส้มใบสันดาร ส่วนขนมจวยตาอุ้ย ถ้ามีเวลาพอก็อยากจะทำ แต่ถ้ามีไม่พอก็ไม่เป็นไร และก็อยากจะไปล่องเรือชมบรรยากาศริมสองฝั่งคลอง ไปชมสวนผลไม้ และถ้าสามารถตกกุ้งแม่น้ำได้ ก็อยากลองดูด้วยอ่ะค่ะ ....... ซึ่งพี่แจ๋มก็จัดมาให้พิมครบเกือบทุกอย่างตามที่พิมอยากได้เลยนะคะ ^^
กิจกรรมต่าง ๆ ของที่นี่มีให้เลือกทำเยอะมากมาย แต่ก็ต้องดูด้วยว่าเดือนนั้นสามารถทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง เพราะบางทีบางกิจกรรมมันก็ขึ้นกับน้ำเยอะน้ำน้อย ขึ้นกับฤดู ขึ้นกับสภาพอากาศ และฟ้าฝนด้วยค่ะ
เริ่มกันที่กิจกรรมอย่างแรกที่พิมอยากทำมากกกกกกก (จริง ๆ อยากกินมาก ฮ่าๆ) ก็คือ การหัดทำขนมจากนะคะ ซึ่งขนมจากสูตรของบ้านห้วยแร้งเนี่ย จะเป็นสูตรที่มีส่วนผสมอย่างนึงต่างจากที่อื่น หรือเรียกว่าเพิ่มเข้ามาน่าจะดีกว่าค่ะ ทำให้ขนมจากของบ้านห้วยแร้งนั้นหอมมาก ส่วนว่าจะเพิ่มอะไรยังไง เดี๋ยวตามพิมมาดูเลยค่า
เริ่มกันที่แป้งนะคะ ให้เราหากาละมังใบใหญ่ ๆ มาใบนึง แล้วเทแป้งข้าวเหนียวขาวลงไปค่ะ (ถ้าจำไม่ผิดน่าจะสักโลนึง)
ตามด้วยแป้งข้าวเหนียวดำ หัวกะทิคั้นสด มะพร้าวทึนทึก น้ำตาลทราย และน้ำตาลปี๊บนะคะ (ป้าบอกว่าใส่น้ำตาล 2 อย่างจะทำให้หวานกลมกล่อม) แล้วก็ขยำ ๆ นวด ๆ ด้วยสองมือของเรานี่แหละ ให้เข้ากันค่ะ ระหว่างนั้นถ้าแห้งไปก็ค่อย ๆ เติมน้ำมะพร้าวอ่อนลงไปทีละน้อยนะคะ จนส่วนผสมเข้ากันดี และเหลวประมาณแบะแซ ก็เป็นอันว่าใช้ได้ ใส่เนื้อมะพร้าวอ่อนที่เตรียมไว้ลงไป แต่ยังไม่ต้องคนให้เข้ากัน ให้พักไว้ก่อน ... ระหว่างนี้ก็ไปล้างมือได้เลยค่า
ล้างมือเสร็จ ป้าบอกว่าอันดับต่อไป คือจะต้องมาจุดเตาถ่านนะคะ คือหลายคนอาจจะคิดว่า เราผสมเสร็จ ก็ตักใส่ใบจากเอาไว้เลยไม่ได้เหรอ แล้วค่อยมาจุดเตาถ่าน ย่างทีเดียว ขอตอบว่าไม่ได้ค่าาา เพราะป้าบอกว่าถ้าทำอย่างนั้นส่วนผสมมันจะไหลนะคะ ทำให้ขนมจากของเราออกมาแบน ไม่สวยงาม ดังนั้นแล้วต้องจุดถ่านให้ติดและรอให้ได้ความร้อนในระดับที่ใช้ได้ก่อน จึงจะค่อยเริ่มห่อ และเริ่มย่างอ่ะค่ะ ^_^
และเมื่อถ่านของเราติดไฟและแรงกำลังได้ที่แล้ว ป้าก็เริ่มห่อขนมจากทีละห่อล่ะนะคะ (ก่อนห่อเอาช้อนคน ๆ ให้มะพร้าวอ่อน เข้ากับแป้งก่อนนะ) ซึ่งขนมจากของที่อื่นเวลาที่เราไปซื้อเนี่ย จะมีข้างในอยู่หน่อยนึง คะเนเอาด้วยสายตาแล้ว ก็ไม่น่าจะเกิน 2 ช้อน เรียกว่ากัดไปคำสองคำก็หมดแล้ว แต่ขนมจากของป้า ห่อนึงมีประมาณ 3 ช้อนเลยค่า ป้าบอกว่าไม่ใช่ว่าทำโชว์เลยใส่เยอะแบบนี้นะ เพราะปกติตอนป้าทำขาย (ป้าขายทุกวัน) ป้าก็ใส่เยอะอย่างนี้เหมือนกันอ่ะค่ะ ^_^
และหลังจากใช้เวลาย่างอยู่สักแป๊บนึง ด้วยไฟอ่อน ๆ ด้วยใจเย็น ๆ ขนมจากของพิมก็สุกพร้อมชิมแล้วนะคะ ^_^ ขอบอกว่ากินตอนหนมจากเพิ่งย่างเสร็จใหม่ ๆ และยังร้อน ๆ อยู่นี่ มันอร่อยมาก นุ่มมาก แต่ถึงจะทิ้งไว้ให้เย็น ขนมจากของที่นี่ก็ยังอร่อยนุ่มอยู่เหมือนเดิมล่ะค่า
อ้อ ๆ เกือบลืม ระหว่างที่พิมและคุณสามีกำลังนั่งย่างหนมจากกันอยู่ พี่แจ๊มก็มาถามว่า กินกุ้งแม่น้ำไหม กุ้งแม่น้ำแท้ ๆ เลย จับจากในคลองหน้าบ้านได้เมื่อกี้นี่แหละ ตายังปิ๊ง ๆ ตัวยังใส ๆ อยู่เลย สนไหม ๆ ^^ .... แหมม พี่แจ๊มพูดมาซะขนาดนี้แล้ว จะให้ปฏิเสธได้อย่างไร กลัวพี่แจ๊มจะเสียใจ เพราะงั้นจัดมาเลยค่า
พูดถึงกุ้งแม่น้ำแล้ว พี่แจ๊มบอกว่าคลองที่นี่ยังมีกุ้งแม่น้ำยังชุกชุมมากนะคะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับช่วงน้ำมากน้ำน้อย และขึ้นกับฤดูด้วย ... ส่วนตัวพิมน่ะ เคยกินกุ้งแม่น้ำมาก็เยอะ แต่ส่วนใหญ่จะกินตามร้านอาหาร แถบสิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา สุราษฎร์ ตรัง สตูลบ้าง ก็ไม่รู้ว่ากุ้งแม่น้ำแท้มากน้อยสักแค่ไหนนะคะ (จริงๆ ในใจพิมคิดว่าเป็นกุ้งเลี้ยงมากกว่า) เพราะงั้นพอมาเจอกุ้งแม่น้ำของที่นี่ ที่พี่แจ๊มบอกว่าเป็นกุ้งธรรมชาติ จับได้จากในคลอง ไม่ใช่กุ้งเลี้ยง พิมก็เลยอดตื่นเต้นมากๆ ไม่ได้ และก็พาลจินตนาการไปถึงความอร่อยของมันเลยค่ะ ^^
ตอนแรกพิมก็แอบคิดไว้ว่า ได้กุ้งแม่น้ำมา จะทำอะไรดีนะ คือคิดเมนูไปสารพัดเลยค่ะ แต่พี่แจ๊มบอกว่า กุ้งสด ๆ แบบนี้ แค่ย่างให้สุกแล้วเอามาจิ้มกับน้ำพริกเกลือแซ่บๆ ก็อร่อยแบบไม่ต้องบรรยายแล้ว เพราะงั้นจัดไปเลยค่า ^_^
ระหว่างที่เราย่างกุ้งกันอยู่ตรงระเบียง ที่ในครัวพี่ ๆ ป้า ๆ น้า ๆ เค้าก็กำลังเตรียมตัวทำข้าวห่อกาบหมากและแกงส้มใบสันดานให้พิมกับคุณสามีได้ชมและชิมกันนะคะ
ใบสันดาน หรือที่บางที่เรียกว่าส้มสันดาน เป็นผักพื้นบ้านของทางจันทบุรีและตราดอ่ะค่ะ ปกติจะขึ้นอยุ่ตามป่าละเมาะ หรือพุ่มไม้ หรือต้นไม้ข้างทางบ้าง ลักษณะต้นจะเป็นเถาคล้ายตำลึงผสมผักบุ้ง ^^" แต่เถาจะใหญ่กว่า ใบจะใหญ่กว่าและหนากว่าใบตำลึงมากอ่ะค่ะ ส่วนกลิ่นและรสของส้มสันดานจะเหมือน ๆ กับใบมะขามนะคะ คือออกเปรี้ยวนำ ใช้ได้ทั้งใบแก่ ใบอ่อน ดอกและก็ผล โดยปกติก็จะนำมาใส่ในแกงส้ม ต้มยำ ต้มส้ม แกงเนื้อ แกงหมู แกงอ่อม อะไรประมาณนี้อ่ะค่ะ
ใบสันดานถ้าถูกนำมาทำแกงส้ม ปกติชาวบ้านเค้าจะแกงส้มกับปลาตัวเล็กตัวน้อยที่จับได้จากคลองห้วยแร้งนะคะ แต่ในระยะหลังปลาตัวเล็กตัวน้อยอาจจะหายากนิดนึง ก็เลยมาแกงกับปลาตัวใหญ่อย่างปลากะพงแทนอ่ะค่ะ แต่ความอร่อยนี่ไม่ต่างกันเลยค่า
และสำหรับเมนูอาหารพื้นบ้านอย่างสุดท้าย ที่พิมจะได้ชิมในวันนี้ ก็คือ ข้าวห่อกาบหมากนะคะ ป้าที่พิมจำชื่อไม่ได้แล้ว (ต้องขอโทษด้วยนะคะป้า T__T) บอกว่าข้าวห่อกาบหมากของที่นี่ในสมัยแรกๆ หน้าตาจะไม่เป็นแบบนี้อ่ะค่ะ คือจะมีเครื่องน้อย และก็สีสันไม่ชวนทาน ป้าก็เลยจับเอาวัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่มาเพิ่มลงไป ทดลองแล้วทดลองอีก จนได้ออกมาเป็นข้าวห่อกาบหมากอย่างในปัจจุบันนี้นะคะ
ข้าวห่อกาบหมากของที่นี่ จะมีวิธีทำแตกต่างจากที่อื่นที่พิมเคยได้ชิมมาหลาย ๆ ที่นะคะ ข้าวห่อกาบหมากของที่นี่จะเอาข้าวสวยไปผัดกับน้ำพริกคล้ายน้ำพริกกะปิที่ใส่หมูสับ มันม่วงต้มสุก และกระเทียมเจียวด้วย ปรุงรสให้เค็ม เผ็ด หอม กลมกล่อม แล้วก็ทานคู่กับไข่เค็ม สับปะรดตราดสีทอง มันม่วง เม็ดมะม่วง แตงกวา และปลาตัวเล็กทอดกรอบอ่ะค่ะ
ส่วนวิธีทำข้าวห่อกาบหมาก .. หลังจากที่ป้าผัดข้าวเสร็จแล้ว ป้าก็จะหยิบกาบหมากมา 1 ชิ้นนะคะ รองด้วยใบตองที่เช็ดสะอาด แล้วก็ตักข้าวใส่ลงไป ตามด้วยเครื่องทั้งหมดที่พิมบอกเอาไว้ด้านบนอย่างละชิ้นสองชิ้น เสร็จแล้วก็ห่อ + ผูกเชือกให้เรียบร้อย
แล้วเราก็จะได้ข้าวห่อกาบหมากออกมาอย่างในภาพด้านล่างที่คุณสามีพิมถืออยู่อ่ะค่ะ ^_^
พิมถามคุณป้าว่า ทำไมถึงต้องมีข้าวห่อกาบหมาก มันมีความพิเศษยังไงเหรอ ป้าก็บอกพิมว่าในสมัยก่อนน่ะ สมัยที่ยังไม่มีกล่องข้าว ไม่มีกล่องพลาสติค ไม่มีถุงพลาสติคให้หาซื้อง่าย ๆ แบบในทุกวันนี้ เวลาที่ชาวบ้านจะเดินทางไกล แล้วต้องพกเสบียงติดตัวไปด้วย เค้าก็จะใช้กาบหมากนี่แหละค่ะแทนภาชนะในการห่อข้าว ซึ่งนอกจากจะช่วยในเรื่องของความสะดวกแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายง่าย ก็เลยมีการใช้มาเรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้นี่แหละค่ะ
เมื่อกุ้งเผาสุกแล้ว แกงส้มก็สุกแล้ว ข้าวห่อกาบหมากก็สุกแล้ว ก็ได้เวลาทานข้าวกันแล้วล่ะค่า (ไม่ต้องพูดถึงขนมจากนะคะ ระหว่างรอกับข้าว กินไปเกือบหมดแล้วค่ะ - -")
จะว่าไปพิมเองไม่เคยไปเที่ยวในลักษณะแบบนี้มาก่อนเลยนะคะ เลยไม่รู้ว่าที่อื่นเค้าจะเป็นแบบนี้ไหม .. คือพอทำอาหารกันเสร็จ พี่ ๆ น้าๆ ป้า ๆ ที่เป็นสมาชิกมาร่วมทำกับข้าว มาร่วมต้อนรับพวกเรา ก็จะมาร่วมทานข้าวด้วยกันวงเดียวกันเสมือนญาติพี่น้องมาเยี่ยมบ้านอ่ะค่ะ ตอนแรกพิมก็รู้สึุกเฉย ๆ แต่ทำไปทำมา รู้สึกดีมากเลยอ่ะค่ะ เพราะพี่ ๆ ทุกคนใจดีมาก อัธยาศัยดี พูดจาดี เป็นกันเอง ทำให้พิมและคุณสามีรู้สึกเหมือนว่าได้กลับมาบ้าน มื้อนี้เลยเป็นมื้อที่นอกจากจะอร่อยแล้ว ก็ยังมีความสุขมากๆ อีกด้วยอ่ะค่ะ
หลังจากอิ่มท้องกันเรียบร้อยแล้ว เหลือบตาดูนาฬิกาปาเข้าไป 4 โมงเย็นกว่า ๆ ก็ได้เวลาไปล่องเรือชมวิวสองฝั่งคลองห้วยแร้งแล้วนะคะ
พี่แจ๊มบอกพิมว่า ปกติแล้วน้ำในคลองที่นี่จะใสมากค่ะ ใสขนาดเห็นสาหร่ายในน้ำได้เลย แต่ช่วงนี้ฝนตกหนัก น้ำในคลองก็เลยขุ่นเล็กน้อย ไม่เหมาะกับการลงไปเล่นน้ำ แต่ล่องเรือชมวิวก็ยังงามได้อยู่อ่ะค่ะ ซึ่งวิวสองข้างทางของคลองที่นี่ก็จะเป็นวิวต้นจากกับต้นมะพร้าวซะส่วนใหญ่นะคะ ซึ่งต้นจากพวกนี้เนี่ย พี่แจ๊มบอกว่ามันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไ่ม่มีใครปลูก และพอมันเกิดขึ้นเยอะก็มีการตัดเอามาใช้ประโยชน์ เช่น เอามาทำใบจากที่ไว้มวนยาสูบ เอามาทำเป็นจากสำหรับมุงหลังคา เอาไปสานเป็นงอบ รวมถึงเอามาห่อขนมจากอย่างที่พิมทำไปเมื่อตอนกลางวันด้วยนะคะ เรียกว่าใช้สิ่งที่เกิดตามธรรมชาติได้อย่างมีประโยชน์จริง ๆ อ่ะค่ะ ^_^
จากกิจกรรมล่องเรือ เราไปต่อกันที่กิจกรรมสุดท้ายของวันนี้กับการเข้าชมสวนผลไม้นะคะ ซึ่งสวนผลไม้ที่พี่เค้าจะพาเราไปชม ก็คือสวนของคุณลุงคนขับเรือนั่นเองอ่ะค่ะ ที่สวนคุณลุงจะปลูกผลไม้ไว้เยอะแยะมากมาย ทั้งเงาะสี เงาะโรงเรียน มังคุด ลองกอง ทุเรียน และด้วยความที่คุณลุงปลูกเพื่อกินเองเป็นหลัก ก็เลยปลูกแบบไม่ใช่ย่าฆ่าแมลงใด ๆ ทั้งสิ้นเลยนะคะ เพราะงั้นเดินไปเก็บกินไปได้อย่างสบายใจเลยอ่ะค่า
และหลังจากเดินชมสวนกันไปได้สักพัก คุณลุงก็ถามว่าพิมกับคุณสามีอยากกินผลไม้อะไรเป็นพิเศษไหม ด้วยความเกรงใจก็เลยตอบคุณลุงไปว่าไม่เป็นไรค่า พวกหนูอิ่มแล้ว แต่คุณลุงเหมือนจะรู้ว่าเราแอบเกรงใจ ก็เลยตอบกลับมาว่า อย่าเกรงใจไป มาเที่ยวชมสวนลุงทั้งทีต้องได้ผลไม้ติดไม้ติดมือกลับบ้านไปด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวใครเค้าจะหาว่ามาไม่ถึงสวนลุงนะ ...... ว่าแล้วคุณลุงก็เดินไปตัดเงาะสีกับเงาะโรงเรียนให้พิมอย่างละหลายพวงเลยค่ะ แถมยังเก็บมังคุดกับตัดลองกองให้อีกสองพวงใหญ่ ๆ ด้วย งานนี้ก็ต้องขอบคุณคุณลุงมากๆ เลยค่า
จากสวนคุณลุง เรานั่งเรือกลับมายังบ้านที่เราใช้ทำกิจกรรมกันเมื่อตอนกลางวันนะคะ ตอนแรกพิมกะว่าพอถึงบ้านแล้วจะนั่งคุยชิว ๆ กับพี่แจ๊มและป้า ๆ น้า ๆ สักชั่วโมงสองชั่วโมงก่อนจะเดินทางกลับอ่ะค่ะ แต่พอเหลือบตาดูนาฬิกา อ่่าว.. 6 โมงเย็นแล้วนี่นา ทำไมเวลาแห่งความสุขมันถึงได้เดินเร็วขนาดนี้ พิมก็เลยต้องรีบบอกลาพี่แจ๊มและทุกคน เพราะพิมจะต้องเดินทางต่อไปยังบ้านน้ำเชี่ยว เพื่อไปพักค้างคืนที่นั่นนะคะ (พักแบบโฮมสเตย์) เลยเกรงว่าถ้าไปค่ำมึดดึกดื่นเกินไป อาจจะทำให้เจ้าของบ้านเค้าลำบากได้อ่ะค่ะ
จากบ้านห้วยแร้ง พิมใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาทีก็ถึงบ้านน้ำเชี่ยวนะคะ
บ้านน้ำเชี่ยว เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบชุมชนเชิงวิถีชีวิตละวัฒนธรรม ที่อยู่ในอำเภอน้ำเชี่ยว ห่างจากตัวเมืองตราดแค่เพียง 8 กม. เท่านั้นเองอ่ะค่ะ หมู่บ้านน้ำเชี่ยวเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่ติดทะเล และมีป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์อย่างมาก แถมยังมีคลองขนาดใหญ่ไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ซึ่งสมัยก่อนนั้นน้ำแรงมาก ก็เลยได้ชื่อว่าเป็น "หมู่บ้านน้ำเชี่ยว" อ่ะค่ะ
พิมกับคุณสามีขับรถมาถึงบ้านน้ำเชี่ยวเอาตอนทุ่มกว่า ๆ นะคะ พอขับมาถึงก็มาจอดอยู่ที่หน้าชุมชนแป๊บนึง แล้วสักพักพี่วิไล เจ้าของบ้านที่เราจะไปพักในคืนนี้ก็เดินออกมารับเราที่หน้าชุมชนอ่ะค่ะ
จากนั้นพี่วิไลก็พาพิมกับคุณสามีเดินลัดเลาะเข้าไปในชุมชนนะคะ ซึ่งถ้าเป็นแถวบ้านพิมล่ะก็ เวลาประมาณนี้ยังคึกคักอยู่มาก แต่ที่บ้านน้ำเชี่ยว ในวันที่ไม่มีคณะทัวร์มาเยี่ยมเยียนแบบนี้ .... เงียบสงบสุด ๆ ไปเลยอ่ะค่ะ (แต่ไม่น่ากลัวนะ)
แล้วพี่วิไลก็พาพิมกับคุณสามีไปที่ห้องพักนะคะ บอกให้เก็บกระเป๋า แล้วนั่งพักให้หายเหนื่อยกันสักหน่อย เพราะเห็นว่าเดินทางมาไกล ...... ระหว่างนั้นพี่วิไลก็ไปจัดสำรับกับข้าวมาต้อนรับพวกเราอ่ะค่ะ (รายละเอียดเกี่ยวกับอาหารและที่พัก เดี๋ยวพิมไว้เล่าให้ฟังในตอนหน้าแบบละเอียดๆ นะคะ) ซึ่งตอนแรกเห็นอาหารแล้วเฉยๆ เลยค่ะ เพราะยังอิ่มมาจากอาหารมื้อเย็นที่บ้านห้วยแร้งอยู่ แต่ปรากฎว่าพอได้ชิมไปคำนึง ถึงกับต้องลุกไปคดข้าวใส่จานมาเลยจ้า เพราะกับข้าวอร่อยมาก คือมันอาจจะไม่อร่อยอย่างร้านหรูๆ ตามในห้างในกรุงเทพฯ แต่มันอร่อยแบบรสชาติชาวบ้านๆ ที่เครื่องปรุงไม่เยอะนะคะ อย่างต้มยำกุ้งรสชาตินี่เปรี้ยวเผ็ดเค็มกลมกล่อมมาก ๆ กุ้งนึ่งจิ้มน้ำพริกเกลือ กุ้งก็สดหวานเนื้อดึ๋ง ๆ น้ำพริกเกลือก็รสชาติจัดจ้านมาก ถ้าไม่ติดว่าเปลือกแข็ง ก็คงกินเปลือกไปด้วยแล้วอ่ะค่ะ - -" ส่วนเส้นจันท์ผัดกุ้ง อันนี้อร่อยสุด ๆ ค่ะ ที่เห็นในจานนั่น พิมกินคนเดียวหมดเลยนะคะ - -" แต่ส่วนปูม้ายำมะม่วง เนื่องจากว่าพิมไม่กินปูม้าดิบ ก็เลยไม่ได้ชิมจ้า
หลังจากอิ่มหมีพีมันกับมื้อดึกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พี่วิไลก็มานั่งคุยกับพิมและคุณสามีถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของบ้านน้ำเชี่ยวค่ะ พี่วิไลบอกว่าที่บ้านน้ำเชี่ยวเนี่ย เป็นชุมชน 2 ศาสนา คือมีประชากรนับถือพุทธประมาณ 50% และนับถือศาสนาอิสามอีกประมาณ 50% นะคะ แต่ว่าถึงจะต่างศาสนากัน แต่ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้เนี่ยรักกันเสมือนพี่น้องโดยไม่เกี่ยงศาสนาเลยอ่ะค่ะ ^_^
ที่บ้านน้ำเชี่ยวเนี่ย นอกจากจะมีกิจกรรมในการท่องเที่ยวที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นทำงอบ ทำตังเม ถีบกระดานเก็บหอยแครง/หอยแมลงภู่ งมหอยปากเป็ด ล่องเรือชมวิถีชาวประมง ตกปลาน้ำตื่น และชมหิ่งห้อยแล้ว ก็ยังมีอาหารพื้นถิ่นอยู่อย่างนึงที่พิมว่าน่าสนใจมาก และหาทานได้ยาก นั่นก็คือ #ข้าวเกรียบยาหน้า นะคะ ซึ่งปกติแล้วการจะไปชมการทำข้าวเกรียบยาหน้า การจะไปงมหอยปากเป็ด นั่งเรือชมวิถีชาวประมง ดูคุณยายทำงอบเนี่ย ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นอย่าง ๆ ไปค่ะ อย่างนึงก็ 300-500 บาท ดังนั้นทางตัวแทนชุมชนที่พิมโทรติดต่อไป ก็เลยบอกพิมว่า ให้พิมซื้อเป็นแพคเกจโฮมสเตย์ราคาคนละ 1099 บาทจะดีกว่า (ถ้ามากกว่า 4 คน ๆ ละ 990) เพราะในแพคเกจนอกจากจะได้พักค้างคืนที่น้ำเชี่ยว 1 คืนแล้ว ก็ยังจะมีพาไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจของบ้านน้ำเชี่ยว รวมไปถึงการงมหอย การทำข้าวเกรียบยาหน้าด้วยนะคะ ซึ่งหลังจากพิมพินิจพิจารณาอยู่ประมาณ 3 วัน (เว่อร์ปายยย อิอิ) ก็เลยตัดสินใจเลือกมาพักที่บ้านน้ำเชี่ยวแบบโฮมสเตย์นี่แหละค่า
เพราะงั้นแล้ว คืนนี้พิมขอตัวไปพักผ่อนนอนหลับก่อนนะคะ แล้วเดี๋ยววันพรุ่งนี้ มาตามดูพิมกันอีกทีค่ะว่า พิมจะไปทำอะไรที่ไหนยังไง และมีเมนุไหนอร่อย ๆ บ้าง ...... คอยติดตามชมกันจ้า ^_^
:: รายละเอียดเพิ่มเติม ::
- บ้านน้ำเชี่ยว ติดต่อคุณหน่อย โทร. 084-8925374
- บ้านห้วยแร้ง ติดต่อพี่แจ๊ม วศินี โทร. 089-9848044
- ค่าสาธิต+สอน ที่บ้านห้วยแร้ง ข้าวกาบหมาก 300 บาท / ขนมจาก 300 บาท / แกงส้มใบสันดาน 200 บาท / ค่าชมสวนผลไม้คนละ 50 บาท / ค่าล่องเรือ ลำละ 300 บาท
- อาหารและขนมที่ทำที่บ้านห้วยแร้ง ถ้าทำเสร็จแล้ว ทานไม่หมด ทางบ้านห้วยแร้งจะแพ๊คใส่ถุงให้เราเอากลับมาด้วยนะคะ
- กุ้งแม่น้ำ และสวนผลไม้ ไม่ได้มีตลอด ขึ้นกับน้ำขึ้นน้ำลงและขึ้นกับว่าเป็นเดือนไหนค่ะ
- โฮมสเตย์บ้านห้วยแร้ง พร้อมอาหารเช้า-เย็น อย่างละ 1 มื้อ คนละ 450 บาท ถ้าต้องการทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วย ติดต่อได้ตามเบอร์โทรด้านบนนะคะ
- โฮมสเตย์บ้านน้ำเชี่ยว พร้อมกิจกรรม 4 อย่าง (ล่องเรือชมวิถีประมง งมหอยปากเป็ด ทำงอบ ทำข้าวเกรียบยาหน้า) คนละ 1090 บาท ถ้ามากกว่า 4 คน ๆ ละ 990 บาทค่ะ
- โฮมสเตย์แต่ละที่ เราไม่สามารถเลือกบ้านที่จะพักได้ ขึ้นอยู่กับว่าวันที่เราจะไปพัก เป็นคิวของบ้านไหนค่ะ
- ที่บ้านน้ำเชี่ยว ไม่จำเป็นต้องซื้อแพคเกจแบบโฮมสเตย์ก็ได้ แต่ถ้าหากต้องการชมและทำกิจกรรมหลายอย่าง การซื้อแพคเกจจะครอบคลุมกว่า และประหยัดกว่านะคะ
- อาหารทุกมื้อที่้โฮมสเตย์บ้านน้ำเชี่ยว จะไม่มีหมู เกือบ 100% เป็นอาหารทะเล เพราะสมาชิกครึ่งนึงของชุมชนที่เปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์เป็นมุสลิม และที่นั่นอาหารทะเลสดมากค่ะ
- กิจกรรมของแต่ละแหล่งท่องเที่ยว แต่ละชุมชนมีหลากหลาย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ตามเบอร์โทรด้านบนนะคะ
- เกือบลืมๆ ....... สูตรขนมจากของบ้านน้ำเชี่ยวตามนี้เลยจ้า แป้งข้าวเหนียวขาว 1 โล แป้งข้าวเหนียวดำ 2 ขีด น้ำตาลปี๊บกับน้ำตาลทรายอย่างละ 1/2 โล มะพร้าวทึนทึก 2 ถ้วยตวงแน่ๆ มะพร้าวอ่อน 1 ชามใหญ่ หัวกะทิ 1 ถ้วย น้ำมะพร้าวอ่อนระบุไม่ได้แน่นอน ขึ้นกับความอ่อนแก่ของมะพร้าวเป็นหลัก และสุดท้ายก็คือ หอมเจียว 2 ช้อนโต๊ะค่ะ (แต่ถ้าตามความรู้สึกพิม พิมว่าใส่เกลือลงไปสักครึ่งช้อนชา จะทำให้รสชาติเข้มข้นกว่านี้นะคะ)